ข้อคิดเปลี่ยนชีวิต

ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงปลายทาง ของข้าวปลอดสารพิษ (MBA)

          ท้องทุ่งนาแลเหลืองอร่ามไปทั้งผืนนา มองเผินๆ ก็คงเหมือนๆกันไปหมด แต่ถ้ามองดีๆ แล้ว บนผืนนาจำนวน 3000 ไร่ที่ จ.กำแพงเพชร ของประเสริฐ อัครศิริกาญจนะ 

ข้าวหอมมะลิไม่เพียงออกรวงสีเหลืองอร่ามเท่านั้น หากยังตั้งตรงไม่มีล้มสักต้น ที่สำคัญปลอดสารเคมีอีกด้วย ผืนนาทั้ง 3000 ไร่นี้ แม้ประเสริฐจะเป็นเจ้าของอยู่ แต่เบื้องหลัง

ของต้นข้าวเหล่านั้น เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่ต้องการช่วยเหลือชาวนากระดูกสันหลังของชาติ ทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชาวนาทั่วประเทศที่อยากมาดูงานปลูกข้าวหอมมะลิ

แบบไม่ใช้สารเคมี และเพื่อช่วยเหลือชาวนาในละแวกนั้นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยประเสริฐยินดีที่จะแบ่งผืนนา จำนวน 30 ไร่ ให้กับชาวนาที่มีนาเป็นของตนเองไม่ถึง 10 ไร่

เพื่อมาร่วมปลูกข้าวหอมมะลิกับเรา โดยเราจะเป็นผู้ออกต้นทุนให้ทุกอย่าง และด้วยวิธีการแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลยในแบบฉบับของประเสริฐเอง

ขณะที่ชาวนาก็ใช้ความเป็นมืออาชีพของตนเอง และลงแรง ส่วนรายได้หลังเก็บเกี่ยวจะจัดสรรแบ่งปันกันคนละครึ่ง

 

"ทำไมถึงต้องทำเช่นนี้?"

(MBA ตั้งคำถามกับประเสริฐ หลังจากได้ฟังที่มาของ บริษัท ทอชคนทำนา จำกัด)

 

"เป้าหมายผม คืออยากให้ข้าวหอมมะลิทั้งหมดปลอดสารพิษ และเป็น mass จริงๆ"

(ประเสริฐ ตอบด้วยน้ำเสียงแสดงความมุ่งมั่น)

 

ประเสริฐ เป็นลูกคนจีน เรียนจบแค่ ป.6 ก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาอยู่หลายสิบปี ก่อนจะออกไปค้าขายตามประสาที่พ่อแม่คนจีนสั่งสอนมา เขาผ่านการล้มลุกคลุกคลาน

และต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยมีลูกขยันเป็นแรงขับ

 

"พอดีผมหันมาค้าขายต่างๆ นานาจนกระทั่งผมมาค้นพบโปรดักส์คือทอช ตราคบเพลิง โดยบังเอิญ เมื่อลองนำไปใช้ก็เกิดผลขึ้นมาอย่างมากมาย เมืองไทยเป็นเมืองเกษตร 

กลุ่มที่บริโภคมีเยอะ มันก็สอดคล้องกับแนวคิดว่า ถ้าเราจะทำเพื่อผู้อื่นถ้ามันดีเราก็น่าจะทำยังไงให้ขายได้นี่จึงเป็นที่มาของ บริษัท ทอช คบเพลิง จำกัด 

เพื่อจำหน่ายทอช ตราคบเพลิง ซึ่งเป็นนวัตกรรมดินที่ช่วยให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้ดีขึ้น

"พอทำทอช ตราคบเพลิงเสร็จ ก็มาติดต่อว่าสิ่งที่เราจะทำคงต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เคยสนับสนุนพรรคการเมือง ก็ผิดหวัง ร้องไห้ เลยคิดขึ้นมาได้ว่าเรื่องความรู้ที่เรามี 

ที่เราถนัด โดยคิดไปที่คนก่อนเห็นชาวนาเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ ไปดูปัญหาเขาแล้วเจอ แล้วเราก็ทำ

ประเสริฐ เล่าที่มาของการก่อตั้ง บริษัท ทอช คนทำนา ที่เขาหมายมั่นให้เป็นต้นแบบการปลูกข้าวหอมมะลิที่ไม่ใช้สารเคมีและเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความเป็น Mass ต่อไปในอนาคต

 

ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึง ปลายทาง ของข้าวปลอดสารพิษ คือ อะไร

ประเสริฐ ตั้งคำถามกลับบ้าง ก่อนอธิบายว่า

 

          ต้นทางคือ ชีวิตชาวนา ชาวนามิได้เป็นเพียงแค่ชาวนา แต่ชาวนาเป็นผู้ให้ชีวิต ดังนั้น ชีวิตชาวนา ในความคิดของประเสริฐ จึงต้องปลอดภัยและห่างไกลจากสารพิษ 

ถ้าตราบใดชีวิตยังอยู่ใกล้ชิดกับสารพิษ แน่นอนว่าหนี้สินก็จะตามมา ด้วยเพราะถ้าทำการเกษตรใช้สารพิษเมื่อไร นั่นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเป็นหนี้สินของชาวนา

เขาถือว่าเป็นสารพิษ เพราะการเป็นหนี้เป็นทุกข์ เป็นพิษในสมอง เป็นพิษในชีวิตนั่นเอง ทั้งนี้ใครต่อใครต่างบอกว่าทางรอดของเกษตรกร คือราคาผลผลิตต้องดี 

แต่ประเสริฐ กลับคิดว่าทางรอดของเกษตรกร มี 3 ทาง คือ

  1. ต้นทุนต้องต่ำ
  2. ผลผลิตต้องสูง
  3. คุณภาพผลผลิตต้องดี 

"ราคาหอมมะลิโลก การันตีอยู่ 12000 ต่ำสุด ผู้ใหญ่สมานซึ่งดูแลนาให้ผม มีที่นา 30 ไร่ ปกติขายข้าวได้เงิน 7 หมื่น แต่มาทำตามผมได้ไร่ละแสนกว่าบาท ถ้าไม่ขาดน้ำ

เขาจะได้ 3 แสนบาท แล้วถามว่าชาวนาคนไหนที่มีผืนนา 30 ไร่ แล้วเคยมีรายได้ แสนต่อปีมั๊ย ไม่มี

ในวันนี้ตัวเลขที่ชาวนาซื้อปุ๋ยใช้สูงกว่าตัวเลขที่ชาวนาขายข้าวได้ซะอีก นี่จึงเป็นความอ่อนแอของเกษตรกรไทย 

 

          ระหว่างทางคือ ข้าวไม่ใช่สินค้า แต่ข้าวคือชีวิต ในเรื่องนี้ประเสริฐ อธิบายว่า เขาจะไม่เป็นชาวนาที่ปลูกข้าวปลอดสารพิษ แต่เขากำลังจะปลูกชีวิตที่ห่างไกล

และปลอดภัยจากสารพิษ กล่าวคือ โดยขบวนการผลิตจนถึงวิธีการขายข้าวนั้น ไม่ควรมีกลยุทธ์ใดๆ เช่นการตัดแต่งพันธุกรรม การใช้สารเคมี และการกักตุนข้าว

ผู้ผลิตข้าวส่วนใหญ่มักจะมองข้าวเป็นสินค้า เป็นกำไรเพียงอย่างเดียว ขบวนการเหล่านี้ถือว่าเป็นการหย่าร้างกับธรรมชาติ และการหย่าร้างกับธรรมชาตินั้น 

เป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ ฝนแล้ง น้ำท่วม อากาศแปรปรวนซ้ำซาก มนุษย์นั้นไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แต่มนุษย์ต้องอยู่กับธรรมชาติ

ได้อย่างมีความเข้าใจต่างหาก

 

ดังนั้น ชาวนา ผู้บริโภค และโลกต้องห่างไกลและปลอดภัยจากสารพิษ 

"เข้าใจอยู่สิ่งหนึ่งว่าการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ถ้าทำเป็นระบบนายทุน ต้องอิงเคมี จนกระทั่งถึงจีเอ็มโอ ถ้าเอาระบบนายทุนมาใช้เมื่อไร

จะหย่าร้างธรรมชาติโดยสิ้นเชิง แต่วันนี้ผมไม่ต้องการสิ่งนั้น ผมมองว่าข้าวคือชีวิต เอาเคมีเข้าไปทั้งชีวิต ไม่เหลือความเป็นธรรมชาติเลยนี่คือ ความล้มเหลวของชาวนา

แล้วสอนลูกหลานว่าอย่ามาทำนา ทำให้ชาวนาหายไป แต่วันนี้ผมกำลังดึงเยาวชนกลับมา จึงต้องไปทำนา

 

          ปลายทางคือ ผู้บริโภคทุกระดับชนชั้น ควรได้บริโภคข้าวที่ปลอดสารพิษ ด้วยเหตุเพราะว่าการปลูกข้าวที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีนั้นต้นทุนต้องต่ำ

ดังนั้นถ้าการปลูกข้าวปลอดสารพิษมีต้นทุนที่สูง ปริมาณผลผลิตที่น้อย และไม่ได้คุณภาพ ชีวิตเกษตรกรก็ย่อมจะไม่ปลอดสารพิษ เพราะเป็นหนี้เป็นเหตุ

ให้ประเทศชาติอ่อนแอ และชีวิตผู้บริโภคก็จะต้องได้รับสารพิษจากการกินข้าวต่อไปด้วย ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ของประเสริฐ ที่เขายึดมั่นอย่างจริงจัง 

'เราไม่ได้ปลูกข้าว แต่เราปลูกชีวิตเพื่อชีวิตด้วยว่า "ผมอยากเป็นคนจนที่อยู่ท่ามกลางเกษตรกรที่ร่ำรวย ถ้าผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรร่ำรวย คุณว่าผมจะจนได้มั้ย

ประเสริฐ กล่าวในตอนท้าย 

 

บทความจาก

นิตยสาร MBA

ฉบับที่ 150 NOV-DEC 2011 (Food for Good)

หน้าที่ 122-123 

เรื่องโดย รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ 

ISSN 1513-8275